พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง)
1. ความหมายของวิธีการแบบเปิด (Open Approach)
Inprasitha (2010 อ้างถึงใน ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, 2555) ให้ความหมายของวิธีการแบบเปิด (Open Approach) หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือกำหนดสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดที่หลากหลาย
ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต (2550) กล่าวว่า การสอนแบบเปิด (Open Approach) เป็นการสอนที่ฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการเปิดความคิดที่หลากหลาย เป็นวิธีการที่ครูต้องใช้ความคิดหาวิธีการที่จะให้ผู้เรียนได้เปิดความคิด ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของการนำเสนอความคิดเห็นหรือการกำหนดปัญหาเพื่อกระตุ้นการคิดของผู้เรียน คำตอบที่ได้จะมีลักษณะเปิดกว้างรวมทั้งมีแนวทางแก้ไขหรือมีการตั้งปัญหาขึ้นมาใหม่เพื่อค้นหาความชัดเจนของคำตอบ
สุลัดดา ลอยฟ้า (2552) กล่าวว่า วิธีการแบบเปิด หมายถึง ขั้นตอนการสอนที่มุ่งเตรียมผู้เรียนด้วยสถานการณ์ปัญหา ที่มีลักษณะเป็นปัญหาที่กระตุ้นการคิดวิเคราะห์และสืบเสาะในการหาแนวทางในการแก้ปัญหา สามารถสร้างปัญหาใหม่จากปัญหาดังกล่าว ด้วยประสบการณ์ในการแก้ปัญหา พัฒนาทักษะกระบวนการคิด
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าวิธีการแบบเปิด (Open Approach) หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ใช้สถานการณ์ปัญหาในการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการคิดที่กว้าง และหลากหลาย โดยไม่จำกัดความคิดของผู้เรียน
2. ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการแบบเปิด (Open Approach)
Nohda (1999) ได้เสนอขั้นตอนการนำปัญหาปลายเปิดมาใช้ในชั้นเรียน 3 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดปัญหา เป็นขั้นตอนที่ครูนำเสนอปัญหาให้นักเรียนได้เผชิญ โดยครูไม่ได้แนะวิธีแก้ปัญหาให้กับนักเรียน ซึ่งลักษณะของปัญหาอยู่ในรูปของสถานการณ์ เช่น การเล่นเกม ปัญหานั้นไม่สามารถหาคำตอบได้ในทันที ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานั้นจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของครูตั้งใจว่าจะกำหนดปัญหาที่ครูต้องการให้นักเรียนแก้ไขในสถานการณ์ที่กำหนดเป็นปัญหาชนิดใด ซึ่งชนิดของปัญหาปลายเปิดมี 3 ชนิด คือ 1) กระบวนการเปิด คือ มีวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องหลายทาง 2) ผลลัพธ์เปิด คือ มีคำตอบถูกหลายคำตอบ 3) แนวทางการพัฒนาเปิด คือ สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นปัญหาใหม่ได้หลากหลาย โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขหรือคุณลักษณะ หรือวิธีคิดที่ครูต้องการให้นักเรียนนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหามีกี่วิธีและปัญหาที่ครูต้องการให้นักเรียนสร้างขึ้นจากปัญหาเดิมเป็นปัญหาประเภทใด
2. แก้ปัญหานั้นเป็นขั้นตอนการหาวิธีการที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยนักเรียนแต่ละคนเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาของตนเองที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละคน และครูกระตุ้นให้นักเรียนอภิปรายถึงความเกี่ยวข้องกันของแต่ละวิธีและนำมาบูรณาการเข้าด้วยกัน
3. ขยายปัญหาเป็นขั้นตอนของการขยายสู่ปัญหาใหม่โดยอาศัยฐานจากปัญหาเดิม และพิจารณาจากขั้นตอนการแก้ปัญหา
Inprasitha (2010 อ้างถึงใน ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, 2555) กล่าวถึงขั้นตอนของวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ไว้ 4 ขั้น คือ
1. การนำเสนอปัญหาปลายเปิด (Posing open-ended problem) หมายถึง การกระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาปัญหา ครูเพิ่มเติมข้อมูลและให้ตัวอย่างที่ไม่จำกัดแนวการคิดเกี่ยวกับปัญหาของนักเรียน
2. การเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน (Students’ self-learning) หมายถึง การสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการคิด และการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากนั้นเกิดการเคลื่อนย้ายแนวคิด และการเรียนรู้ในแต่ละบุคคลไปสู่การแลกเปลี่ยนแนวคิด และการเรียนรู้ในกลุ่ม
3. การอภิปรายทั้งชั้นและการเปรียบเทียบ (Whole class discussion and comparison) หมายถึง การให้นักเรียนได้ร่วมกันอภิปรายแนวคิด ครูต้องส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด และตั้งคำถาม และครูควรพยายามจำแนกนักเรียนว่าใครยังไม่เข้าใจปัญหาและให้ตัวอย่างเพิ่มขึ้น
4. การสรุปโดยการเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน (Summarization through connecting students’ ideas emerged in the classroom) หมายถึง การที่ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปแนวคิดที่ได้จากการจัดการเรียนรู้ โดยการผสมผสาน และจัดเรียงแนวคิดต่าง ๆ ของนักเรียน สรุปการเรียนรู้ และกระตุ้นผู้เรียนสำหรับคาบเรียนต่อไป
ซึ่งสามารถนำเสนอได้ดังภาพต่อไปนี้
ภาพที่ 2 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการแบบเปิด (Open Approach)
(Inprasitha, 2010)
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าสามารถกำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การนำเสนอสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด (Posing open-ended problem)
2. การเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน (Students’ self-learning)
3. การอภิปรายทั้งชั้นเรียนและการเปรียบเทียบ (Whole class discussion and comparison)
4. การสรุปโดยการเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน (Summarization through connecting students’ ideas emerged in the classroom)
เอกสารอ้างอิง
ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์. (2555). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องการใช้วิธีการพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนแบบ Open Approach เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูคณิตศาสตร์แบบ Lesson Study Approach. ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
__________. (2560). การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคลากรทางการศึกษา ในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ขอนแก่น: แอนนาออฟเซต.
ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต. (2550). รายงานการวิจัยการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนแบบเปิด (Open Approach) ในรายวิชาประวัติศาสตร์สำหรับครู สำหรับนักศึกษาสาขาสังคมศึกษา หลักสูตร 5 ปี. ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สุลัดดา ลอยฟ้า. (2552). คู่มือการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการพัฒนาวิชาชีพครูคณิตศาสตร์ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach). ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Nohda, N. (1999). Teaching and Evaluation of Problem Solving Using the Open Approach in Mathematics Problem Solving Activities. Paper present at ICME 9 August 2000, Makuhari, Japan.