วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการแบบเปิด (Open Approach)

 พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง)

1. ความหมายของวิธีการแบบเปิด (Open Approach)

   Inprasitha (2010 อ้างถึงใน ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, 2555) ให้ความหมายของวิธีการแบบเปิด (Open Approach) หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือกำหนดสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดที่หลากหลาย

ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต (2550) กล่าวว่า การสอนแบบเปิด (Open Approach) เป็นการสอนที่ฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการเปิดความคิดที่หลากหลาย เป็นวิธีการที่ครูต้องใช้ความคิดหาวิธีการที่จะให้ผู้เรียนได้เปิดความคิด ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของการนำเสนอความคิดเห็นหรือการกำหนดปัญหาเพื่อกระตุ้นการคิดของผู้เรียน คำตอบที่ได้จะมีลักษณะเปิดกว้างรวมทั้งมีแนวทางแก้ไขหรือมีการตั้งปัญหาขึ้นมาใหม่เพื่อค้นหาความชัดเจนของคำตอบ

สุลัดดา ลอยฟ้า (2552) กล่าวว่า วิธีการแบบเปิด หมายถึง ขั้นตอนการสอนที่มุ่งเตรียมผู้เรียนด้วยสถานการณ์ปัญหา ที่มีลักษณะเป็นปัญหาที่กระตุ้นการคิดวิเคราะห์และสืบเสาะในการหาแนวทางในการแก้ปัญหา สามารถสร้างปัญหาใหม่จากปัญหาดังกล่าว ด้วยประสบการณ์ในการแก้ปัญหา พัฒนาทักษะกระบวนการคิด

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าวิธีการแบบเปิด (Open Approach) หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ใช้สถานการณ์ปัญหาในการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการคิดที่กว้าง และหลากหลาย โดยไม่จำกัดความคิดของผู้เรียน

2. ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการแบบเปิด (Open Approach)

     Nohda (1999) ได้เสนอขั้นตอนการนำปัญหาปลายเปิดมาใช้ในชั้นเรียน ขั้นตอน คือ

1. กำหนดปัญหา เป็นขั้นตอนที่ครูนำเสนอปัญหาให้นักเรียนได้เผชิญ โดยครูไม่ได้แนะวิธีแก้ปัญหาให้กับนักเรียน ซึ่งลักษณะของปัญหาอยู่ในรูปของสถานการณ์ เช่น การเล่นเกม ปัญหานั้นไม่สามารถหาคำตอบได้ในทันที ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานั้นจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของครูตั้งใจว่าจะกำหนดปัญหาที่ครูต้องการให้นักเรียนแก้ไขในสถานการณ์ที่กำหนดเป็นปัญหาชนิดใด ซึ่งชนิดของปัญหาปลายเปิดมี ชนิด คือ 1) กระบวนการเปิด คือ มีวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องหลายทาง 2) ผลลัพธ์เปิด คือ มีคำตอบถูกหลายคำตอบ 3) แนวทางการพัฒนาเปิด คือ สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นปัญหาใหม่ได้หลากหลาย โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขหรือคุณลักษณะ หรือวิธีคิดที่ครูต้องการให้นักเรียนนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหามีกี่วิธีและปัญหาที่ครูต้องการให้นักเรียนสร้างขึ้นจากปัญหาเดิมเป็นปัญหาประเภทใด

2. แก้ปัญหานั้นเป็นขั้นตอนการหาวิธีการที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยนักเรียนแต่ละคนเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาของตนเองที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละคน และครูกระตุ้นให้นักเรียนอภิปรายถึงความเกี่ยวข้องกันของแต่ละวิธีและนำมาบูรณาการเข้าด้วยกัน

3. ขยายปัญหาเป็นขั้นตอนของการขยายสู่ปัญหาใหม่โดยอาศัยฐานจากปัญหาเดิม และพิจารณาจากขั้นตอนการแก้ปัญหา

     Inprasitha (2010 อ้างถึงใน ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, 2555) กล่าวถึงขั้นตอนของวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ไว้ 4 ขั้น คือ

1. การนำเสนอปัญหาปลายเปิด (Posing open-ended problem) หมายถึง การกระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาปัญหา ครูเพิ่มเติมข้อมูลและให้ตัวอย่างที่ไม่จำกัดแนวการคิดเกี่ยวกับปัญหาของนักเรียน

2. การเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน (Students’ self-learning) หมายถึง การสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการคิด และการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากนั้นเกิดการเคลื่อนย้ายแนวคิด และการเรียนรู้ในแต่ละบุคคลไปสู่การแลกเปลี่ยนแนวคิด และการเรียนรู้ในกลุ่ม

3. การอภิปรายทั้งชั้นและการเปรียบเทียบ (Whole class discussion and comparison) หมายถึง การให้นักเรียนได้ร่วมกันอภิปรายแนวคิด ครูต้องส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด และตั้งคำถาม และครูควรพยายามจำแนกนักเรียนว่าใครยังไม่เข้าใจปัญหาและให้ตัวอย่างเพิ่มขึ้น

4. การสรุปโดยการเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน (Summarization through connecting students’ ideas emerged in the classroom) หมายถึง การที่ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปแนวคิดที่ได้จากการจัดการเรียนรู้  โดยการผสมผสาน และจัดเรียงแนวคิดต่าง ๆ ของนักเรียน สรุปการเรียนรู้ และกระตุ้นผู้เรียนสำหรับคาบเรียนต่อไป

ซึ่งสามารถนำเสนอได้ดังภาพต่อไปนี้

ภาพที่ 2 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการแบบเปิด (Open Approach)

(Inprasitha, 2010)

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าสามารถกำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. การนำเสนอสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด (Posing open-ended problem)

2. การเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน (Students’ self-learning)

3. การอภิปรายทั้งชั้นเรียนและการเปรียบเทียบ (Whole class discussion and comparison)

4. การสรุปโดยการเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน (Summarization through connecting students’ ideas emerged in the classroom) 


เอกสารอ้างอิง

ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์. (2555). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องการใช้วิธีการพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนแบบ Open Approach เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูคณิตศาสตร์แบบ Lesson Study Approach. ขอนแก่นคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

__________. (2560). การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคลากรทางการศึกษา ในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ขอนแก่นแอนนาออฟเซต. 

ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต. (2550). รายงานการวิจัยการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนแบบเปิด (Open Approach) ในรายวิชาประวัติศาสตร์สำหรับครู สำหรับนักศึกษาสาขาสังคมศึกษา หลักสูตร 5 ปี. ขอนแก่นคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สุลัดดา ลอยฟ้า. (2552). คู่มือการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการพัฒนาวิชาชีพครูคณิตศาสตร์ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach). ขอนแก่นคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Nohda, N. (1999). Teaching and Evaluation of Problem Solving Using the Open Approach in Mathematics Problem Solving Activities. Paper present at ICME August 2000, Makuhari, Japan.

การจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการแบบเปิด (Open Approach)

  พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง) 1. ความหมายของวิธีการแบบเปิด ( Open Approach)     Inprasitha  ( 2010  อ้างถึงใน ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ , 2555)...